
เที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร ที่จังหวัดพังงา แบบ 1 day trip ดื่มด่ำกับธรรมชาติสวยงาม กับวิถีชีวิตของชาวประมงในพื้นที่ ส่องกองทัพปูมดแดงนับแสนตัวที่สันหลังมังกร ผจญภัยสำรวจถ้ำผีหัวโต อื่มท้องกับอาหารทะเลสดๆ ที่อร่อยจนอยากให้ทุกคนได้มาลองชิม ทริปนี้จะสนุกขนาดไหน ไปชมกันเลย



6 โมงเช้าตามเวลานัดกับพี่ไกด์นำเที่ยว ที่ท่าเรือกลุ่มการท่องเที่ยวบ้านโคกไคร ท่าเรือนี้เป็นท่าเรือที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้สัญจรกันเป็นส่วนใหญ่ เรามาที่ท่าเรือก่อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเพียงเล็กน้อย ช่างเป็นท้องฟ้ายามเช้าก็สวยมากจริงๆ ว่าไป ก็ถือว่าเราโชคดีนะเนี่ย วันนี้อากาศดีตั้งแต่เช้าเลย
เอาล่ะ เมื่อทุกคนพร้อม เราก็ลงเรือเริ่มต้นการท่องเที่ยวทริปนี้กันเลย

ด้วยตัวชุมชนบ้านโคกไครอยู่ริมคลองมะรุ่ย ที่เป็นเส้นทางน้ำไหลออกสู่ทะเล อย่างอ่าวพังงา ทั้งยังแบ่งระหว่างจังหวัดพังงากับกระบี่อีกด้วย ตลอดเส้นทางผ่านแนวป่าชายเลนที่สมบูรณ์ พร้อมกับท้องฟ้าที่เริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีทอง
ดวงตะวันที่กำลังขึ้น แสงเช้าสีส้มเหลืองอ่อนๆ ก็สาดส่องมายังพื้นโลก เป็นสัญญาณที่บ่งบอกการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ ไม่ใช่แค่สัตว์ที่ต้องออกหากิน เหล่ามนุษย์อย่างเราๆ ก็ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตเช่นเดียวกัน จึงไม่แปลกที่จะเห็นชาวบ้านชาวประมงแห่งนี้แล่นเรือมุ่งสู่ทะเล

จุดแรกที่พี่ไกด์พามาก็คือ จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นผ่านทิวเขาหินปูนที่สะท้อนลงบนผิวน้ำ ช่างเป็นภาพน่าประทับใจอย่างยิ่ง แม้แต่การถ่ายภาพก็ยังไม่สามารถเก็บความสวยที่อยู่ตรงหน้านี้ได้ อย่างให้มาสัมผัสความสวยตรงนี้กันเลยค่ะ

หลังจากถ่ายรูปกับพระอาทิตย์กันจุใจแล้ว ก็หันหัวเรือมุ่งหน้าออกสู่ท้องทะเลกันเลย
ระหว่างเส้นทาง จะพบกับธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก ทั้งป่าชายเลน ทิวเขาที่สลับซับซ้อนกันไป และด้วยจังหวัดพังงาภูเขาส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูน ทำให้ตลอดเส้นทางจะเห็นลายของหินอย่างชัดเจน พร้อมกับฟังคำบรรยายของพี่ไกด์ เรียกว่าเป็นการนั่งเรือที่เพลินเพลินมากจริงๆ


และแล้วก็มาถึงจุดไฮไลต์อีกจุด นั่นก็คือจุดแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพังงากับกระบี่ โดยมีเกาะที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เกาะ 2 พี่น้อง ซึ่งเกาะทั้งสองนี้ถูกคั่นกลางด้วยน้ำทะเลที่อยู่ห่างกันเพียงไม่กี่โลเมตร แต่อยู่คนละจังหวัด การมาเที่ยวครั้งนี้ถือว่าคุ้มเลยนะ ได้ไปทั้งกระบี่และพังงาเลย

บวกด้วยวันนี้เป็นวันที่อากาศดีมาก ทั้งท้องฟ้ากับน้ำทะเลเป็นสีฟ้าสดใสเลย แบบนี้ก็ต้องถ่ายรูปสักหน่อย (การยืนแบบนี้อยู่ในความดูแลของไกด์และทีมงานนะคะ)


ถึงที่หมายในการแวะพักทานอาหารเช้าที่หาดตั้งเลน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า สันหลังมังกร นั่นเอง เป็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ที่ทอดยาวอยู่กลางทะเล เป็นสถานที่ที่เหล่าปูมดแดงอาศัยอยู่เยอะที่สุดในประเทศไทย


เมื่อเรือจอด พวกเราก็ตื่นเต้นกันมาก เป็นแนวสันทรายที่สวยมากจริงๆ เห็นวิวเขาอยู่ไกลๆ ด้วย พื้นทรายก็แน่นแต่ละเอียด ทำให้เดินเล่นได้ไม่ยาก



เมื่อถึงเวลาน้ำลด เจ้าปูมดแดงก็พากันออกมาอาบแดงบนพื้นทรายสีขาวนี้ ยิ่งวันไหนอากาศดี แดดแรงๆ ทั่วทั้งพื้นแทบกลายเป็นสีแดงเข้มๆ เลยทีเดียว ด้วยความที่ปูมดแดง ค่อนข้างเป็นสัตว์ที่ขี้อายและตกใจง่าย เวลาเราเดินชม จะต้องเดินเบาๆ หรือนั่งนิ่งๆ สักพัก เจ้าปูมดแดงก็จะค่อยๆ โผล่ออกมาจากรูให้ได้ชมกัน



นอกจากนี้ยังเห็นปลาดาวมาเกยตื้นอาบแดดด้วยนะ น่ารักกก

ถ่ายรูปกับเจ้าปูกันจุใจ ท้องก็เริ่มส่งเสียงประท้วงขออาหารเช้ากันแล้ว เห็นไกลๆ อยู่ลิบๆ มีโต๊ะกับร่มที่กางอยู่บนพื้นสันทรายแห่งนี้ ถ้าเดาไม่ผิดต้องเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เสียงในท้องสงบลงอย่างแน่นอน ไม่รอช้ารีบจ้ำอ้าวไปยังสถานที่ตรงหน้าอย่างไม่รีรอ


อาหารเช้าของเราจริงๆ ด้วย พี่ๆ ทีมงานมาตั้งโต๊ะรอพร้อมให้บริการแล้ว
ทั้งยังบอกว่า ด้านหลังที่ขึงด้วยผ้าถุงตรงนั้น คือห้องน้ำ สามารถไปปลดทุกข์ได้ ไม่ต้องเขินอายกัน


เป็นมื้อเช้าที่ดีต่อใจอัดแน่นมาก ทั้งข้าวเหนียวสังขยา ขนมชั้น กาแฟ โอวัลติน และน้ำชา ซึ่งเป็นชาใบขลู่ที่เป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ทั้งยังเป็นสินค้าในชุมชนโคกไครอีกด้วย อาหารคาวก็ไม่น้อยหน้า มาในรูปแบบปิ่นโต มีข้าวหมกไก่ที่ให้พูนๆ กับน่องไก่โตๆ และไข่อีก 1 ลูก อีกชั้นคือผัดหมี่ที่รสชาติดีมาก และตบท้ายด้วยผลไม้อย่างส้ม นั่งกินไป ฟังเสียงคลื่นไป ฟินได้อีก

อิ่มแล้ว ก็เดินหน้าย้ายทัพไปต่อกันที่ ถ้ำผีหัวโต หรือ ถ้ำหัวกะโหลก ที่ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ที่เรียกกันว่าถ้ำผีหัวโตนั้น เพราะรูปทรงภายนอกของลูกนี้เหมือนกับกะโหลกขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันมีต้นไม้ปกคลุมอยู่มาก ทำให้เห็นเพียงแค่ตรงช่องที่เหมือนปากเท่านั้น
ส่วนค่าบริการในการเข้าชมทางไกด์จะจัดการให้ เราเดินสวยๆ ไปรอที่หน้าถ้ำได้เลย


โดยภายในถ้ำจะแบ่งออกเป็น 2 ห้องใหญ่ๆ แต่ละห้องก็เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยเป็นรูปทรงต่างๆ และภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำมากกว่า 100 ภาพ มีทางเดินเป็นสะพานไม้ทอดยาวเข้าไปในตัวถ้ำ ทำให้เราเดินสำรวจได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องปีนไปตามหินเหมือนเมื่อก่อน


ในถ้ำนี้มีไฮไลต์อย่างภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำที่มีอายุมากกว่า 3,000 ปี โดยส่วนใหญ่ภาพในถ้ำจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนในอดีต มีทั้งภาพคน สัตว์ และสิ่งของอีกมากมาย


ภาพเขียนที่โด่งดังที่สุดของที่นี่ คงเป็นภาพคนทะเล สวมหน้ากาก คลุมร่างกายในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชาวทะเล บางคนก็บอกว่านี่คือภาพของชุดแต่งงานผู้หญิงในสมัยก่อน
อีกภาพที่ดังไม่แพ้กันคงไม่พ้นรูปมือของคนในสมัยก่อน ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า มือข้างหนึ่งนั้นมี 6 นิ้วที่ ซึ่งตามความเชื่อของคนโบราณบอกว่าความผิดปกติของร่างกายเป็นเรื่องราวของความพิเศษจะต้องได้รับการยกย่อง

เดินเข้ามาในโถงที่ 2 โถงนี้กว้าง สูงโปร่งกว่าโถงแรก และอัดแน่นไปด้วยภาพเขียนสีโบราณ มีหินงอกหินย้อยเต็มไปหมด ก็นะ เป็นถ้ำที่เกิดขึ้นมานานหลายพันปีแล้วนี่นา เดินชมไป ฟังไกด์ไป ได้ความรู้เต็มๆ




จะว่าไปหินงอก หินย้อยที่นี่ก็สวยนะ อย่างภาพแรก ไกด์บอกว่าคล้ายดอกกุหลาบ แต่เรามองว่าเหมือนกะหล่ำดอก ซึ่งการงอกของหินนี้ จะขึ้นอยู่กับปริมาณระดับน้ำด้วยนะ ถ้าน้ำมากก็จะมีฐานที่กว้างขึ้น
ส่วนอีกภาพคนชาวเลจะมองหินย้อยนี้เหมือนรูปหัวฉลาม เป็นเครื่องเตรียมใจในการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเมื่อต้องออกทะเล

และสุดท้ายก่อนกลับ ไกด์ได้พาไปชมลายแทงเส้นทางลับเข้าไปยังขุมสมบัติที่คนโบราณได้ซ่อนเอาไว้ ขุมสมบัตินี้มีอยู่จริงยืนยันได้จากบรรพบุรุษของไกด์เอง แต่เนื่องด้วยปัจจุบันทางเข้าแคบลงจากหินงอกหินย้อย ทำให้เข้าไปถึงด้านในไม่ได้แล้ว
บรรยากาศภายนอกถ้ำ ส่วนใหญ่เป็นต้นโกงกางที่สมบูรณ์มากๆ ทำให้อากาศแถวนี้ดีมาก ร่มเย็นสบาย สามารถนั่งชิลได้เลยล่ะ



ทริปนี้ยังไม่จบนะ ถ้ายังไม่ได้กินอาหารทะเลแบบเต็มสตรีม ไกด์ก็พาเรากลับมาที่แพกระชังเลี้ยงหอย ซึ่งชาวบ้านที่เขาจะเลี้ยงหอยแบบธรรมชาติบนดินโคลนปนทราย ทำให้หอยหาอาหารเองได้ จากน้ำที่ไหลพัดพาอาหารอย่างพวกแพลงก์ตอน

ที่นี่มีหอยนางรมหลากหลายพันธ์ุ ทั้งพันธุ์เล็กอย่างหอยตีบ และพันธุ์ใหญ่อย่างหอยตะโกรมกรามขาว หอยตะโกรมกรามดำ นอกจากนี้ยังมีหอยแมลงภู่ด้วยนะ โดยเขาเลี้ยงด้วยวิธีแบบพวงอุบะแขวนแบบนี้เลย ผูกติดกันไว้กับเชือกแล้วแขวนปล่อยให้หอยเติบโตตามธรรมชาติ
จริงๆ แล้วที่บ้านโคกไครคือแหล่งผลิตหอยนางรมอันดับต้นๆ ของไทย เลี้ยงตั้งแต่ตัวเล็กๆ ก่อนจะส่งออกไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนโตกลายเป็นหอยใหญ่ที่ใครๆ ก็รู้จัก

นอกจากกระชังหอยแล้ว บนแพเดียวกันก็มีธนาคารปูม้าด้วยนะ ที่ก่อตั้งเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชน ถ้าจับได้แม่ปูที่มีไข่นอกกระดอง จะนำมาฝากเลี้ยงจนกว่าปูจะปล่อยไข่จนหมด ถึงจะนำแม่ปูไปขายต่อ ส่วนไข่ก็จะรอฟักตัวเป็นตัวอ่อนก่อนจะนำไปปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ทำให้ที่นี่มีจำนวนปูเพิ่มมากขึ้น


และแล้วก็ถึงเวลาที่เรารอคอย กับมื้อเที่ยงที่มีอาหารทะเลวางเต็มโต๊ะ ทั้งหอยนางรมตัวใหญ่ๆ ปูม้านึ่งเนื้อแน่นๆ หอยแมงภู่อบ ห่อหมกปลาสูตรเด็ดของที่นี่ แกงส้มปลากระบอก พร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บ
อาหารแต่ละอย่างใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เรื่องความสดคงไม่ต้องพูดถึง รสชาติกลมกล่อมกำลังดี เรียกว่าถูกปากเราอย่างมาก กินไปเม้าส์มอยกันไป เรียกได้ว่าเป็นมื้อที่พิเศษสำหรับเราเลยล่ะ



นอกจากนี้ยังได้รู้วิธีเพิ่มรสชาติในการกินหอยนางรมด้วย ส่วนวิธีการกินยังไงให้ได้รสชาติที่อร่อยมากขึ้น เราจะทำคลิปลง youtube ไว้นะ ลองไปตามหาดูกันได้นะ
ส่วนนี่คือผลิตภัณฑ์ของชุมชน เป็นสบู่เปลือกหอยนางรม กับใบชาขลู่ สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่เราได้ชิมกันไปที่มื้อเช้า แบบนี้ต้องจัดซื้อกลับไปชงดื่มต่อที่บ้าน

สรุปเส้นทางการเดินทาง
- นั่งเรือหัวโทง ล่องคลองมะรุ่ย ชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า
- เที่ยวชม สันหลังมังกร และชมปูมดแดง
- รับประทานอาหารเช้ากลางทะเลบนสันหลังมังกร
- เที่ยวชม ถ้ำหัวกะโหลก และภาพเขียนโบราณในตำนาน
- เรียนรู้การเพาะเลี้ยงหอยนางรม และหอยแมลงภู่
- รับประทานอาหารกลางวัน กับอาหารทะเลแบบเต็มสตรีม
สรุปค่าใช้จ่าย
คนละ 1,550 บาท (เราไปทั้งหมด 4 คน)

โดยรวมทริปครึ่งวันกับชุมชนบ้านโคกไคร จังหวัดพังงา ตื่นตาตื่นใจกับธรรมชาติที่ได้เห็น สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องที่ ทั้งได้ความรู้แปลกใหม่อีกด้วย ที่ประทับสุดคงไม่พ้นอาหารที่ได้ลิ้นรส และการบริการพาเที่ยวชมในจุดต่างๆ ของไกด์ด้วย ถ้าหากมีโอกาส แล้วเราเจอกันใหม่นะ ชุมชนบ้านโคกไคร
ติดต่อ
เพจ : ท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร พังงา
โทร : 087 886 0465
พิกัด : ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา
Google map : https://goo.gl/maps/4sz4uzLX1NKrKgTNA